เติมรักให้ผู้สูงวัย..ดูแลให้ห่างไกลจากโรคหัวใจขาดเลือด

โรคหัวใจขาดเลือด

               ในปัจจุบันพบว่าสาเหตุของการเสียชีวิตของคนไทยที่ไม่ใช่อุบัติเหตุ มาจากโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงเป็นอันดับ 2 เป็นรองเพียงแค่โรคมะเร็งเท่านั้น โรคหัวใจขาดเลือด มักจะพบในผู้สูงอายุ เนื่องจากเมื่อคนเราอายุมากขึ้นจะมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งเป็นผลมาจากความเสื่อมของอวัยวะต่าง ๆ ดังนั้น ลูกหลานอย่างพวกเราควรมาทำความรู้จักปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคนี้ รวมถึงติดตามวิธีป้องกันและรักษา เพื่อให้สูงวัยที่เรารักอยู่กับเราไปนาน ๆ 😊

               โรคหัวใจขาดเลือด หรือ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Ischemic heart disease) เกิดจากการที่เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอต่อความต้องการของหัวใจ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจแข็งตัว หรือมีไขมันไปเกาะผนังของหลอดเลือดทำให้หลอดเลือดแดงตีบแคบลง ปริมาณเลือดแดงผ่านได้น้อย และหากหลอดเลือดแดงอุดตัน จะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ โดยปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด มีดังนี้

1. อายุ มักพบผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดในวัยกลางคนขึ้นไปถึงวัยสูงอายุ
เพศชายอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป และเพศหญิงอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป
2. เพศ พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
3. พันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเดียวกันป่วยเป็นโรคหัวใจขาดเลือดร่วมด้วย โดยเฉพาะคนในครอบครัวที่เริ่มมีอาการตั้งแต่วัยกลางคนขึ้นไป จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้มากกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคนี้ร่วมด้วย
4. โรคประจำตัว หรือโรคที่พบร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน เป็นต้น
5. พฤติกรรมเสี่ยง การสูบบุหรี่ การไม่ออกกำลังกาย ภาวะเครียดเรื้อรัง

โรคหัวใจขาดเลือด by GenGranf

               ลูกหลาน รวมทั้งผู้สูงวัยเอง ควรสังเกตอาการต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น ใจสั่น หายใจถี่ เหนื่อยมากผิดปกติเวลาออกแรง เจ็บหรือแน่นหน้าอกเหมือนมีอะไรมากดทับ รู้สึกอึดอัดที่ลิ้นปี้หรือปวดร้าวไปบริเวณแขนซ้ายขึ้นหัวไหล่ เหงื่อแตก หน้าซีด คล้ายจะเป็นลม หรือเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หากมีอาการดังกล่าวก็อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคหัวใจขาดเลือดได้

เมื่อปรึกษาแพทย์และทำการตรวจอย่างแน่ชัดแล้วว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือด แพทย์จะประเมินแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับอาการและสภาพร่างกายของผู้ป่วย เช่น ให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ การรักษาด้วยยา การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและการใส่ขดลวด ผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ หรือการทำ “บายพาส”

อย่างไรก็ตามก็อย่าเพิ่งกังวลใจมากจนเกินไป เพราะว่าเราสามารถป้องกันการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดได้ไม่ยาก โดยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ

1. ควบคุมและรักษาโรคที่พบร่วมต่าง ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหรือโรคเบาหวาน เป็นต้น
2. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ได้แก่ งดการสูบบุหรี่ ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วนจนเกินไป โดยการออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ
3. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ปลา ผัก และผลไม้ งดรับประทานอาหารที่มีรสมันจัด หรือมีคอเลสเตอรอลสูง
4. นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายจิตใจ ไม่เครียดกับงาน
5. ตรวจเช็คสุภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง แต่ถ้ามีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเป็น ๆ หาย ๆ ควรแจ้งแพทย์เพิ่มเติมด้วย

ที่มา : thonburihospital.com, sikarin.com, healthydee.moph.go.th, paolohospital.com