ปรับบ้านต้อนรับปีใหม่…เพื่อสูงวัยที่รัก

 

บ้านสวย สะดวก ปลอดภัย ถูกใจวันเก๋า แทนความห่วงใยในช่วงเทศกาลปีใหม่

เพื่อน ๆ ที่อาศัยอยู่กับผู้สูงวัย ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย คงทราบดีว่า ‘บ้าน’ นั้นสำคัญกับพวกท่านมากแค่ไหน
เพราะเวลาส่วนใหญ่ของผู้สูงวัยมักจะอยู่ภายในบ้าน ดังนั้น จะปรับบ้านทั้งทีต้องคำนึงความปลอดภัยและสะดวกสบายของผู้สูงวัยเป็นหลัก บ้านที่ดี จะต้องตอบโจทย์การใช้ชีวิตในทุก ๆ วัน และไม่ทำให้พวกท่านรู้สึกเป็นภาระ ผู้สูงวัยมีความสุข ลูก ๆ หลาน ๆ ก็แฮปปี้ 😊

เพราะฉะนั้นปีใหม่นี้ GenGrand ชวนคุณมาปรับบ้านเก่าให้สวยเหมือนใหม่ แถมตอบโจทย์ผู้สูงวัยกัน! วันนี้เรามี 6 ข้อควรรู้ ก่อนปรับบ้านเพื่อผู้สูงวัย มาฝากครับ

1. การจัดการพื้นบ้าน

เมื่อนึกถึงเรื่องของความปลอดภัยของผู้สูงวัยภายในบ้าน ‘พื้น’ เป็นส่วนที่ต้องพิจารณาเป็นส่วนแรก ว่าวัสดุที่ใช้ปูพื้นอยู่นั้นมีผิวมันหรือไม่ เพราะวัสดุผิวมันจะทำให้เสี่ยงต่อการลื่นล้มได้ง่าย ซึ่งวิธีการปรับบ้านเพื่อผู้สูงวัยในส่วนนี้ แก้ไขเบื้องต้นได้ง่าย ๆ โดยการติดวัสดุกันลื่นเฉพาะจุดที่เสี่ยงต่อการลื่นล้ม เช่น ภายในห้องน้ำ ห้องครัว หรือพื้นที่ส่วนเปียกของบ้าน ซึ่งในปัจจุบันก็มี แผ่นยางกันลื่น ที่เข้ามาช่วยในเรื่องนี้ ส่วนวิธีการแก้ไขถาวรนั้น สามารถทำได้โดยการเปลี่ยนวัสดุปูพื้นให้เป็นวัสดุที่มีผิวหยาบ อาจจะหยาบด้วยพื้นผิว หรือเป็นวัสดุที่มีผิวสัมผัสเซาะร่อง เซาะเป็นลวดลาย ก็ได้ครับ และส่วนของในบริเวณพื้นที่ห้องน้ำ นอกจากจะปรับตามที่กล่าวมาแล้ว ยังควรมีการวางรางระบายน้ำบริเวณฝักบัวอาบน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้พื้นเปียกและน้ำไหลนองพื้นห้องน้ำ หรือมีการแบ่งโซนพื้นที่เปียกและแห้งภายในห้องน้ำให้ดี เพื่อป้องกันการลื่นล้มภายในห้องน้ำ

2. การจัดการกับพื้นต่างระดับ

ใครที่มีผู้สูงวัยในบ้านคงพอทราบกันดีว่า พื้นที่ต่างระดับถือเป็นอุปสรรคใหญ่ในการเคลื่อนที่ของผู้สูงวัย โดยเฉพาะในบ้านที่ผู้สูงวัยใช้ไม้เท้า หรือวีลแชร์ เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ ที่เราจะต้องจัดการกับพื้นต่างระดับทุกจุดที่ผู้สูงอายุต้องเข้าไปใช้งาน หลัก ๆ ก็จะเป็นบริเวณหน้าบ้าน ซึ่งมักจะยกระดับให้สูงเหนือพื้นดินเล็กน้อย ฉะนั้น หากพอมีระยะหน้าบ้าน เราควรจะทำทางลาดเพิ่มเติม โดยความชันของทางลาด จะอยู่ที่ slope 1:12 (อธิบายง่าย ๆ คือ หากระดับต่างกัน 1 เมตร ความยาวของทางลาดที่จะไปถึงระดับนั้น ต้องมีความยาว 12 เมตร นั่นเอง) แต่หากจะปรับโดยเพิ่มทางลาดจริง ๆ ต้องศึกษาข้อมูล ข้อกำหนด และรายละเอียดปลีกย่อยเพิ่มเติม เช่น ความสูงของราวจับ หรือระยะชานพัก เป็นต้น ส่วนในกรณีที่มีพื้นที่ไม่พอต่อการทำทางลาด อาจจะใช้อุปกรณ์จำพวก Stair Climbing หรือ Platform Lift เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกก็ได้นะครับ

3. การเสริมที่จับคอยช่วยพยุงตัว

ราวจับก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์สำคัญ ที่คอยช่วยให้ผู้สูงวัยใช้จับ ใช้พยุงตัว เมื่อจะเคลื่อนที่ จะลุก จะนั่ง และเคลื่อนตัวไปตามที่ต่าง ๆ โดยส่วนมากลักษณะของราวจับที่เหมาะสม จะมีลักษณะหน้าตัดเป็นวงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางราว ๆ 3-5 เซนติเมตร ตำแหน่งที่ติดตั้ง ก็สามารถเลือกติดในตำแหน่งต่าง ๆ ที่ผู้สูงวัยจะต้องเข้าไปใช้งานหรือเคลื่อนที่ผ่าน โดยเฉพาะในห้องน้ำ จำเป็นอย่างมากที่จะมีราวจับที่ช่วยพยุงในจุดที่สำคัญ ๆ ดังนี้ครับ

4. การจัดการปรับระดับความสูงของสิ่งต่าง ๆ

เรื่องระดับความสูงก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่ลูก ๆ หลาน ๆ ไม่ควรละเลย ปรับเปลี่ยนบ้านเก่า ซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่ อย่าลืมคำนึงถึงระยะความสูงของโต๊ะ อ่างล้างมือ และเคาน์เตอร์ต่าง ๆ ให้มีระยะที่ใช้ได้สำหรับวีลแชร์ กล่าวคือ ควรมีระยะความสูงจากพื้นประมาณ 75-80 เซนติเมตร และที่สำคัญ คือ ด้านล่างควรมีช่องว่างสูง 60 เซนติเมตร และลึก 40 เซนติเมตร ขึ้นไป เพื่อให้สะดวกเมื่อวีลแชร์เข้าไปใช้งาน นอกจากนี้ ทั้งเตียงนอน ที่นั่ง และโซฟาต่าง ๆ หากจะให้ดี ระยะต้องไม่สูงจนเกินไป และเก้าอี้ควรจะมีพนักพิง เพื่อจะได้เป็นตัวช่วยพยุง เมื่อจะลุกจะนั่งด้วย

5. การจัดการระยะห่างของสิ่งของ

ระยะห่างที่ต้องให้กว้างเข้าไว้ มีเหตุผลหลักๆ ก็คือ สำหรับให้ผู้สูงวัยที่ใช้วีลแชร์สามารถเคลื่อนที่ไปยังจุดต่างๆ ได้ทั่วถึง และในบางจุดควรกว้างเป็นพิเศษ เพื่อที่จะสามารถหมุนวีลแชร์กลับตัวได้นั่นเอง โดยบริเวณที่จำเป็นต้องเผื่อความกว้างไว้ ได้แก่

  • ประตูต่าง ๆ : ทางที่ดีควรมีความกว้างเคลียร์ไปเลยไม่ต่ำกว่า 90 เซนติเมตรน้า และถ้าจะให้ดีควรเป็นประตูบานสไลด์ ถ้าได้มือจับแบบก้านโยก ก็จะสะดวกมากๆ เลย
  • รอบ ๆ เตียงนอน : ควรเว้นรอบเตียงเป็นที่ว่าง กว้างประมาณ 90 เซนติเมตร เพื่อความสะดวกในการขึ้นลง และสำหรับวีลแชร์อีกด้วย
  • ห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุ : นอกจากระยะติดตั้งสุขภัณฑ์และอุปกรณ์ราวจับต่างๆ แล้ว ที่สำคัญคือ ที่ว่างภายในห้องน้ำ ต้องเคลียร์โล่งเป็นระยะเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5 เมตร ทั้งนี้ก็เพื่อการใช้งานของวีลแชร์ที่สามารถเข้าไปใช้งานได้สะดวก และหมุนตัวกลับได้สบาย ๆ

   

6. การเลือกใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์

ปัจจุบันมีเทคโนโลยีหลายตัวที่สามารถช่วยให้บ้านของเพื่อน ๆ ปลอดภัยและสะดวกสบายมากขึ้นสำหรับผู้สูงวัยด้วย อาทิ

  • Emergency call bell เครื่องส่งสัญญาณการช่วยเหลือ ติดไว้ในตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว และห้องนั่งเล่น ควรติดในตำแหน่งที่ชัดเจน ระดับความสูงพอเหมาะ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินหรือผู้สูงวัยต้องการความช่วยเหลือ จะได้กดปุ่มแล้วมีเสียงกริ่งดังแจ้งเตือนให้เราสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ทันท่วงที ยิ่งในสมัยนี้ การแจ้งเตือนสามารถเชื่อมต่อ และส่งไปยังสมาร์ตโฟนได้อีกด้วย
  • Lighting motion sensor การติดไฟเซนเซอร์ตามจุดสำคัญต่าง ๆ เช่น ไฟใต้ฐานเตียง ไฟตามทางเดินไปห้องน้ำ กรณีที่ผู้สูงวัยต้องตื่นเข้าห้องน้ำกลางดึก เพื่อให้แน่ใจว่ามีแสงสว่างนำทางเพียงพอ
  • CCTV หากในบางครั้ง ที่เราอาจจะไม่ได้อยู่บ้านตลอดเวลา การติดตั้งกล้องวงจรปิดก็ช่วยได้มาก ในการคอยสังเกตดูแลผ่านสมาร์ตโฟนของเรา ทำให้เมื่อมีเหตุฉุกเฉิน ก็สามารถไปช่วยได้ทันท่วงที

 

GenGrand หวังว่าเพื่อน ๆ จะได้ประโยชน์และมีบ้านที่ตอบโจทย์ผู้สูงวัยที่รักได้ไม่มากก็น้อยนะครับ 😊

 

ขอขอบคุณที่มา :
younghappy.com/blog/life-style/7-tips-safetyhome/
livingpop.com/living-with-elder/
thinkofliving.com/ไอเดียตกแต่ง/renovate-บ้านเก่าเพื่อผู้สูงอายุต้องรู้อะไรบ้างนะ-313056/
scgbuildingmaterials.com/th/ideas/design-ideas/how-to-design-house-for-elderly-people
pinterest.com/pin/679128818787439761/
scgheim.com/services
youtube.com/watch?app=desktop&v=uhkGM5b_YXI
forfur.com/media/idea/6280/6280_14876463661465079498
smartbuilts.com/กระเบื้องยาง/how-to-choose-tiles/