5 วิธี เอาชนะโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ

โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ

โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ภัยเสี่ยงที่ลูกหลานต้องระวัง

                 โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุเป็นโรคที่พบได้บ่อยขึ้นในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งมีผลมาจากสภาพลักษณะทางสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงจากครอบครัวขนาดใหญ่เป็นครอบครัวที่มีขนาดเล็กลง ทำให้ผู้สูงอายุต้องอยู่เพียงลำพังมากขึ้น และหากลูกหลานไม่ได้สนใจหรือให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุเท่าที่ควร โรคซึมเศร้าอาจมาเยือนได้โดยไม่ทันได้ตั้งตัว

                 ทั้งนี้โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุถือเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เกิดขึ้นได้เป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ต้องกักตัวอยู่บ้านกับสถานการณ์โรคระบาดของ COVID 19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนานๆ อย่างไรก็ตามโรคนี้เป็นโรคที่สามารถป้องกันและรักษาได้ ดังนั้นหากผู้สูงอายุที่บ้านได้รับการดูแลที่ถูกต้อง มีลูกหลานที่ให้ความสำคัญ มีความรู้ความเข้าใจ สามารถเตรียมพร้อมป้องกันและรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงที โรคซึมเศร้าก็จะไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่น่ากังวลใจอีกต่อไป

สาเหตุและความเสี่ยงของโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ

  1. การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่ส่งผลกับสภาพจิตใจ เช่น ผิวหนังเหี่ยวย่นตามกาลเวลา ทำให้เกิดความกังวลใจว่าจะไม่สวยหล่อ หรือดูดีเช่นเดิม เป็นต้น
  2. การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ทำให้อารมณ์แปรปรวนจนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ทำให้ง่ายต่อการทะเลาะและมีปากเสียงกับลูกหลาน
  3. การเปลี่ยนแปลงของพละกำลังที่มีน้อยลง เดินได้ช้าลง หยิบจับของได้ไม่สะดวกเช่นเดิม ทำให้ขัดใจ และไม่สามารถข่มใจให้เย็นลงและยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้
  4. มีการเจ็บป่วยทางกายจนทำให้เกิดการเจ็บป่วยทางใจตามมา
  5. มีโรคประจำตัวหรือมีปัญหาสุขภาพที่ต้องพึ่งพาลูกหลาน จนทำให้รู้สึกเป็นภาระของลูกหลาน
  6. ไม่ได้ทำงานประจำ ทำให้เริ่มรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า
  7. ลูกหลานไม่เข้าใจและไม่ให้ความสนใจ ทำให้รู้สึกน้อยใจและคิดว่าไม่มีใครต้องการ
  8. ผู้สูงอายุต้องอยู่บ้านมากขึ้น ในขณะที่ลูกหลานมีภาระนอกบ้าน ทำให้ไมีมีเวลาสำหรับกิจกรรมในครอบครัว
  9. เป็นโรคซึมเศร้ามาตั้งแต่ก่อนเข้าสู่วัยชรา

5 วิธีง่าย ๆ ในการเอาชนะโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุที่ได้ผลดี

  1. เข้าใจและตระหนักว่าผู้สูงอายุที่บ้าน คือ บุคคลที่เราต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เข้าใจธรรมชาติของผู้สูงอายุที่อาจมีอารมณ์แปรปรวนจนทำให้บางคำพูดและการกระทำนั้นเกิดขึ้นโดยไม่สามารถควบคุมได้ รวมถึงให้อภัยทุกความผิดพลาดที่ผู้สูงอายุได้กระทำโดยไม่ติดค้างใด ๆ ในใจ
  2. มอบความรักและความเอาใจใส่กับผู้สูงอายุ ด้วยการแสดงออกให้ผู้สูงอายุอุ่นใจว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ลูกหลานก็ยังพร้อมที่รักและคอยดูแลเสมอ ทั้งนี้อาจแสดงออกได้ด้วยคำพูด การเขียนจดหมาย หรือการกระทำ ข้อนี้มีความสำคัญในการทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกสบายใจ มีที่พึ่ง ไม่รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า และเป็นภาระแก่ลูกหลาน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการทำให้เกิดโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ
  3. กำหนดวันครอบครัว และหากิจกรรมทำร่วมกันสม่ำเสมอ โดยเน้นเป็นกิจกรรมที่ผู้สูงอายุชื่นชอบ เช่น ร้องเพลง เล่นดนตรี ทำอาหาร ปลูกต้นไม้ หรือออกกำลังกาย เป็นต้น ในกรณีที่ลูกหลานอยู่ห่างไกล จำเป็นต้องโทรกลับบ้านทุกวันหรือทุกอาทิตย์สม่ำเสมอ หาเวลากลับบ้านให้ได้ทุก 1-2 เดือน หรือตามเวลาที่ได้ตกลงกันไว้สม่ำเสมอ
  4. พยายามหาที่พึ่งทางใจให้กับผู้สูงอายุ ข้อนี้ขึ้นอยู่กับความเชื่อและศาสนาที่ผู้สูงอายุนับถือ ในกรณีนับถือศาสนาพุทธ อาจชักชวนกันไปทำบุญ ฟังธรรม หรือปฏิบัติธรรม ซึ่งมีส่วนช่วยให้จิตใจสงบ ยอมรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น ซึ่งส่งผลดีทั้งกับลูกหลานและผู้สูงอายุ
  5. ดูแลรักษาโรคประจำตัวที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้สภาวะเจ็บป่วยทางร่างกายส่งผลต่อสภาพจิตใจ รวมถึงเฝ้าคอยสังเกตพฤติกรรมของผู้สูงอายุว่ามีอะไรผิดปกติไปหรือไม่ ในกรณีที่ไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าผู้สูงอายุที่บ้านจะเริ่มเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้าแล้วหรือยัง ให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อเข้าตรวจรักษาอย่างถูกต้องต่อไป

          จะเห็นได้ว่าหัวใจหลักของวิธีการพิชิตโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ คือความเข้าใจในธรรมชาติของผู้สูงอายุ การพร้อมที่จะมอบความรักและดูแลผู้สูงอายุด้วยใจโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ สามารถแบ่งเวลาให้กับผู้สูงอายุและทำกิจกรรมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเข้ากับสถานการณ์ COVID 19 ที่ทุกคนต้องกักตัวอยู่บ้าน ทำให้ได้มีโอกาสใช้เวลาร่วมกับผู้สูงอายุมากขึ้น

          ทั้งนี้อยากให้คุณลองนำเทคนิคดี ๆ ข้างต้นไปปรับใช้กับผู้สูงอายุที่บ้าน แล้วคุณจะค้นพบว่านอกจากวิธีการดังกล่าวจะช่วยให้ครอบครัวของคุณห่างไกลจากโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้แล้ว ยังช่วยให้คุณมีความสุขในการได้ดูแลคนที่คุณรักเพิ่มขึ้นอีกด้วย