วันนี้ GenGrand อยากชวนลูก ๆ หลาน ๆ ลองมาสังเกตุลักษณะการเดินของผู้สูงวัยที่เรารักกันดูนะครับ หากมีลักษณะการเดินที่ผิดปกติ เช่น ยกเท้าลำบาก ก้าวขาไม่ออก เดินซอยเท้าถี่ ๆ ทรงตัวได้ไม่ดี หกล้มบ่อย อย่าพึ่งคิดว่าเป็นเรื่องปกติของผู้สูงอายุ เพราะความจริงแล้วอาจเกิดมาจากโรคน้ำคั่งในโพรงสมองในผู้สูงอายุได้ ซึ่งโรคนี้หากรู้เร็วก็มีทางรักษาให้กลับมาเดินเป็นปกติได้
โรคโพรงสมองคั่งน้ำชนิดความดันปกติ หรือ โรคน้ำคั่งในโพรงสมองในผู้สูงอายุ (Normal Pressure Hydrocephalus: NPH) เป็นภาวะความผิดปกติทางสมองที่เกิดจากโพรงน้ำในสมองมีขนาดใหญ่ขึ้น การขยายตัวของโพรงน้ำไปกดเบียดเนื้อสมองทำให้สมองทำงานผิดปกติ มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งจะมีความผิดปกติใน 3 ส่วนหลัก ๆ แบบเรียงลำดับ ดังนี้
- การเดินผิดปกติ ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ขาในการก้าวเดินได้เป็นปกติ เดินลำบากเวลาขึ้นลงบันไดหรือทางที่ลาดชัน โดยลักษณะการเดินจะเดินช้าๆ ก้าวสั้นๆ เดินขากางเนื่องจากการทรงตัวไม่ดี หรือเดินเซเพราะมีอาการมึนงง แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยจะไม่มีการอ่อนแรงของขาทั้ง 2 ข้างชัดเจน
- สมองเสื่อม ญาติอาจสังเกตว่าผู้ป่วยมีสมาธิสั้น เฉื่อยชา ความจำระยะสั้นแย่ลง หลงลืมเรื่องราวที่เพิ่งเกิดขึ้น อาการเหล่านี้จะค่อยๆ เป็นเพิ่มขึ้นในระยะเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี
- ปัสสาวะราด ปัสสาวะบ่อย ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ เข้าห้องน้ำไม่ทัน
สาเหตุของโรคน้ำคั่งในโพรงสมองในผู้สูงอายุสามารถ แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ
- กลุ่มที่หาสาเหตุไม่พบ คือ มีการดูดซึมน้ำในโพรงสมองกลับเข้าหลอดเลือดดำ (Cerebrospinal fluid: CSF) ลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งทำให้เกิดการคั่งของน้ำหล่อเลี้ยงในโพรงสมอง โพรงสมองจึงขยายโตขึ้นอย่างช้าๆ ส่งผลต่อเนื้อเยื่อสมอง และก่อให้เกิดอาการดังที่กล่าวมา แต่ความดันในโพรงสมองยังปกติอยู่ จึงเรียกภาวะนี้ว่า “ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำชนิดความดันปกติ”
- กลุ่มที่หาสาเหตุพบ เช่น มีภาวะเลือดออกในชั้นใต้เยื่อหุ้มสมอง ภาวะติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง หรือเยื้อหุ้มสมองอักเสบ อุบัติเหตุรุนแรงที่สมอง เช่น ตกจากที่สูง ล้ม หรือถูกรถชนแล้วศีรษะถูกกระแทกอย่างแรง
การรักษาโรคน้ำคั่งในโพรงสมองในผู้สูงอายุ
คุณหมออาจใช้ทางเลือกในการรักษาด้วยการผ่าตัดวิธีใดวิธีหนึ่งดังต่อไปนี้
1. การใส่ทางลัดโพรงสมอง (Shunt insertion)
ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ จะมีการผ่าตัดใส่ทางลัดโพรงสมอง ทางลัดโพรงสมองเป็นระบบการระบายของเหลว ที่ประกอบด้วยหลอดยาวและวาล์ว โดยวาล์วช่วยให้น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังมีการไหลในอัตราปกติและอยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง คุณหมอจะใส่ปลายหลอดข้างหนึ่งภายในสมองและใส่ปลายหลอดอีกข้างหนึ่งเข้าไปในอกหรือช่องท้อง แล้วน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังจะถูกระบายจากสมอง ออกทางปลายหลอดข้างหนึ่ง ซึ่งเป็นบริเวณที่สามารถดูดซึมได้ง่ายขึ้น การใส่ทางลัดโพรงสมองมักทำอย่างถาวร และต้องมีการเฝ้าระวังอย่างสม่ำเสมอ เป็นการผ่าตัดที่ค่อนข้างปลอดภัย เนื่องจากเกิดบาดแผลเล็กและแทบไม่มีการสูญเสียเลือด โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนและผลข้างเคียงจากการผ่าตัดต่ำ
2. การระบายน้ำไขสันหลังจากโพรงสมอง (Ventriculostomy)
การระบายน้ำไขสันหลังจากโพรงสมอง เป็นทางเลือกในการใส่ทางลัดโพรงสมอง เป็นการสร้างรูในบริเวณโพรงสมองส่วนล่างหรือระหว่างโพรงสมอง ทำให้น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังระบายออกจากสมองได้ ซึ่งผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงมักจะดีขึ้น
จากข้อมูลด้านบน ชาว GenGrand คงพอได้ทราบข้อมูลเรื่องโรคน้ำคั่งในโพรงสมองในผู้สูงอายุ กันไม่มากก็น้อยแล้ว เพราะฉะนั้นหากผู้ใหญ่ในบ้านเริ่มมีอาการของโรค ควรรีบพาไปพบคุณหมอ เพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธี เพื่อให้ผู้สูงวัยในบ้านที่เรารักใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีความสุขและสดใสในทุก ๆ วันนะครับ 😊